ฟันแท้ขึ้นซ้อน ต้องถอนฟันน้ำนมออกหรือไม่? - ทันตกรรมเด็ก
ฟันน้ำนมโยกไม่หลุด ฟันแท้ขึ้นซ้อน ฟันแท้ไม่สามารถขึ้นได้ หรือขึ้นบิดเบี้ยวจากการเบียด อาการเหล่านี้คือปัญหาที่พบบ่อยในช่องปากของน้องๆ โดยธรรมชาติแล้วเวลาฟันแท้ขึ้นจะดันละลายรากฟันน้ำนม ทำให้ฟันน้ำนมเหล่านั้นเริ่มโยกและหลุดออกไปเอง ซึ่งฟันน้ำนมแต่ละซี่จะหลุดออกไปตามระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป โดยฟันหน้าจะหลุดก่อนฟันกราม ในบางกรณีที่เมื่อถึงเวลาแล้วแต่ฟันน้ำนมยังไม่หลุด และมีฟันแท้ขึ้นซ้อนค่อนข้างสูงแล้ว เราสามารถแก้ไขได้โดยให้คุณหมอฟันเด็กถอนฟันน้ำนมออกได้ค่ะ ในบทความนี้จะพูดถึงเรื่องข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชุดฟันน้ำนม อายุการใช้งานของฟันน้ำนมแต่ละซี่ ฟันน้ำนมหลุดช้าหรือเร็วกว่าปกติควรทำอย่างไร เมื่อไหร่ควรต้องถอนฟันน้ำนมที่มีฟันแท้ขึ้นซ้อนออก และขั้นตอนการถอนฟันน้ำนม
ฟันน้ำนมคืออะไร?
ฟันน้ำนม คือ ฟันชุดแรกที่จะเริ่มทยอยขึ้นตั้งแต่น้องๆอายุประมาณ 6 เดือนและขึ้นครบทั้งหมด 20 ซี่ เมื่อน้องๆอายุประมาณ 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง ซึ่งหน้าที่ของฟันน้ำนมนั้น นอกจากจะช่วยในเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร เรื่องการพูดและการออกเสียงแล้ว ฟันน้ำนมยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกันที่ให้ฟันแท้ขึ้นในตำแหน่งที่เหมาะสม
ฟันน้ำนมมีอายุการใช้งานยาวนานแค่ไหน?
ฟันน้ำนมแต่ละซี่จะมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป โดยปกติแล้วเมื่อถึงระยะเวลา ฟันน้ำนมจะเริ่มโยกและหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ
ฟันน้ำนมซี่หน้าจะเริ่มโยกและหลุดออกไปเมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบ
ฟันน้ำนมซี่กรามจะเริ่มโยกและหลุดออกไปเมื่ออายุประมาณ 10-12 ขวบ
ฟันน้ำนมโยก มีอันตรายอะไรหรือไม่?
การโยกของฟันน้ำนมเป็นกระบวนการทางธรรมชาติซึ่งไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เมื่อถึงตามกำหนดเวลาที่ได้กล่าวไปด้านบน ฟันแท้จะเริ่มขึ้นและละลายรากฟันน้ำนม ทำให้ฟันน้ำนมเริ่มโยก และเมื่อฟันน้ำนมซี่นั้นมีรากฟันน้อยลง ก็จะโยกมากขึ้นและหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ
หากฟันน้ำนมเริ่มโยกก่อนเวลา ควรทำอย่างไร?
สาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมโยกก่อนเวลา อาจเกิดขึ้นจากฟันแท้ซี่ข้างๆขึ้นผิดตำแหน่ง ไปละลายรากฟันน้ำนมซี่ข้างๆให้หลุดไปก่อนเวลา หรืออาจเกิดจากฟันน้ำนมตำแหน่งนั้นเคยได้รับอุบัติเหตุ ทำให้รากฟันน้ำนมละลายไปเร็วกว่าปกติ หรืออาจเกิดจากฟันน้ำนมผุลึกลงไปถึงรากฟัน หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าฟันน้ำนมของน้องเริ่มโยกก่อนเวลาที่ได้กล่าวไปข้างต้น แนะนำให้พบคุณหมอฟันเด็กเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาเพื่อปกป้องการหลุดของซี่ฟันน้ำนมก่อนระยะเวลา
ฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลา มีข้อเสียอย่างไร?
การหลุดของฟันน้ำนมก่อนเวลาจะนำไปสู่ปัญหาในหลายๆด้านดังนี้
ปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร
ปัญหาในการพูด ออกเสียงคำต่างๆ
สูญเสียช่องว่างสำหรับการขึ้นของฟันแท้ ทำให้ฟันแท้ขึ้นซ้อนเก หรือไม่สามารถขึ้นมาได้
ฟันหลอนาน ส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจของน้องๆ
เมื่อถึงระยะเวลาแล้วฟันน้ำนมไม่ยอมหลุด ควรทำอย่างไร?
การหลุดของฟันน้ำนมในน้องแต่ละคนจะแตกต่างกัน หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าฟันน้ำนมของน้องไม่โยกเลยเมื่อถึงเวลาที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว แนะนำให้พบคุณหมอฟันเด็กเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา ในบางกรณีสาเหตุที่ฟันน้ำนมน้องไม่ยอมหลุดอาจเกิดจากการไม่มีฟันแท้ในตำแหน่งนั้น หรือฟันแท้สร้างในทิศทางที่ผิดปกติ หรือรากฟันน้ำนมเชื่อมติดแน่นกับกระดูก ทำให้ฟันน้ำนมหลุดช้ากว่าปกติ เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรต้องถอนฟันน้ำนมที่มีฟันแท้ขึ้นซ้อนออก?
กรณีฟันหน้าล่าง หากมีฟันแท้ขึ้นซ้อนเพียงเล็กน้อย สามารถให้น้องโยกฟันน้ำนมเองก่อนได้ แต่ถ้าฟันแท้ขึ้นซ้อนเกินครึ่งซี่ แล้วฟันน้ำนมยังไม่ยอมหลุด แนะนำคุณพ่อคุณแม่นัดหมายพาน้องเข้ามาถอนฟันน้ำนมออก เพื่อให้ฟันแท้สามารถขยับออกมาในตำแหน่งที่เหมาะสมได้
กรณีฟันหน้าบน หากมีฟันแท้ขึ้นซ้อนเพียงเล็กน้อย และฟันน้ำนมยังไม่หลุด แนะนำคุณพ่อคุณแม่นัดหมายพาน้องเข้ามาถอนฟันน้ำนมออกได้เลย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาฟันสบคร่อมหรือฟันยื่น
ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีที่ฟันน้ำนมโยกและน้องมีอาการเจ็บ ไม่สามารถทานอาหารหรือแปรงฟันตามปกติได้ สามารถพาน้องมาถอนฟันน้ำนมออกได้เลย แม้จะยังไม่มีฟันแท้ขึ้นซ้อน
ถ้าไม่ถอนฟันน้ำนมออก จะมีผลเสียอย่างไร?
เมื่อมีฟันแท้ขึ้นซ้อนกับฟันน้ำนม แล้วไม่ได้ถอนฟันน้ำนมออก จะมีผลเสียต่อสุขภาพฟันของเด็กดังนี้
ฟันน้ำนมจะขัดขวางการขึ้นของฟันแท้
ฟันแท้ขึ้นซ้อน ส่งผลทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
ฟันแท้ที่ขึ้นซ้อนกับฟันน้ำนม ทำให้บริเวณนั้นแปรงทำความสะอาดได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหินปูนหรือฟันผุได้ง่าย
ฟันแท้อาจขึ้นเบียดเบี้ยว ซ้อนเก ส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจของน้องๆเวลายิ้ม
ขั้นตอนการถอนน้ำนม เป็นอย่างไร?
คุณหมอฟันเด็กตรวจสุขภาพช่องปากเบื้องต้น
ใส่ยาชา โดยการใส่ยาชานั้น คุณหมอฟันเด็กที่ ToothFairy จะทำใน 2 ขั้นตอนคือ คุณหมอจะใช้ยาชาแบบทา ป้ายลงไปบนบริเวณเหงือกข้างๆซี่ที่จะถอนออก เพื่อให้เหงือกบริเวณนั้นชาก่อน และตามด้วยยาชาแบบฉีด ซึ่งการทำแบบนี้ จะทำให้น้องๆมีอาการกังวลกับการฉีดยาชา และรู้สึกเจ็บน้อยลง
หลังจากใส่ยาชา 3-5 นาที เมื่อยาชาออกฤทธิ์อย่างเต็มที่แล้ว คุณหมอฟันเด็กจะทำการถอนฟันน้ำนมออก
เมื่อถอนฟันน้ำนมออกไปแล้ว คุณหมอฟันเด็กจะให้กัดผ้าเป็นก๊อซห้ามเลือดเป็นระยะเวลาประมาณ 30 นาที
หลังการถอนฟันน้ำนม ควรปฏิบัติอย่างไร?
หลังการถอนฟันน้ำนมออกไปแล้ว มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
ควรกลืนเลือดและน้ำลายตลอดเวลาที่กัดผ้าก๊อซ ไม่ควรบ้วนทิ้งเพราะจะทำให้เลือดหยุดช้าลง
แปรงฟันได้ตามปกติ แต่ควรแปรงอย่างระมัดระวังบริเวณแผลถอน และไม่ควรบ้วนปากแรงในวันแรก
ห้ามแคะหรือดูดบริเวณแผลถอนฟัน
ทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้เมื่อมีอาการปวด
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับการถอนฟันน้ำนม หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ ช่วยคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการถอนฟันน้ำนมของน้องๆนะคะ หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามเข้ามาได้ผ่าน Line Official, Facebook Page หรือทางโทรศัพท์ได้เลยค่ะ ทางทีม ToothFairy ยินดีตอบทุกคำถาม เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเด็กๆทุกคนค่ะ
ToothFairy Dental Clinic เป็นคลินิกเฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก ตั้งอยู่ย่านพระราม 2 - บางบอน ทำการรักษาด้วยทันตแพทย์เฉพาะทางเด็กใจดี มือเบา มุ่งเน้นให้เด็กๆทุกคนมีทัศนคติที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อให้มีสุขภาพฟันที่ดีเริ่มตั้งแต่ชุดฟันน้ำนมจนกระทั่งถึงชุดฟันแท้ค่ะ
สามารถอ่านรีวิวการบริการเพิ่มเติมบนเพจ Facebook ของทางคลินิก